ครีเอทีฟคอมมอนส์ : ลิขสิทธิ์กับสิทธิมนุษยชน

เชื่อหรือไม่ สถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทงานสร้างสรรค์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา) ระหว่างปี 2546-2550 หรือภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 26,041 คดี คิดเป็นของกลางทั้งหมด 7,258,640 ชิ้น

ข้อมูลตัวเลขดังกล่าว มีปริมาณสูงจนน่าตกใจ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ค้า ขณะเจ้าหน้าที่ พยายามนำกำลังเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า บริเวณย่านการค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ก่อนที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะมีผลบังคับใช้ และก่อนที่การละเมิดลิขสิทธิ์ จะกลายเป็นการกระทำที่แพร่หลายในสังคม กระทั่งส่งผลให้การเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ เบื้องหลังเอกสารปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ได้ให้การรับรองและประกาศสิทธิของมนุษย์ทุกคน ในการเข้าถึงองค์ความรู้และงานสร้างสรรค์ทุกประเภทในข้อ 27 (1) ไว้ว่า

(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระ ในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์

และในข้อ 27 (2) ของปฏิญญาฯ ยังได้ให้การรับรองสิทธิของผู้สร้างสรรค์ไว้ด้วยกัน โดยกล่าวว่า

(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางจิตใจและทางวัตถุ อันเป็นผลจากประดิษฐกรรมใดทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้าง

นอกจากนี้ TRIPs หรือความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กลาง ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่บรรดาประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ต้องถือปฏิบัติ ยังได้ให้การรับรองทั้งสิทธิของผู้สร้างสรรค์ และสิทธิของส่วนรวมไว้ร่วมกันในวัตถุประสงค์ข้อ 7 ของความตกลงฉบับนี้ ดังนี้

" ข้อ 7 วัตถุประสงค์ : การคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องคำนึงถึงการสนับสนุนและส่งเสริม ให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การถ่ายทอดและการเผยแพร่เทคโนโลยี เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ผลิตและผู้ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยี และโดยพฤติการณ์อันนำมาซึ่งสวัสดิการ หรือความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสิทธิและพันธกรณี "

จากเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว ยืนยันได้ถึงสิทธิเบื้องต้นของมนุษย์ทุกคน ที่ได้รับการรับรองไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในการเข้าถึงและใช้องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสร้างสรรค์หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ โดยมีอิสระและไม่ถูกจำกัด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องเคารพสิทธิของเจ้าของ ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์หรือผู้คิดค้นด้วย

การสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของผู้ใช้และสิทธิของผู้สร้างสรรค์ นับเป็นเงื่อนไขสำคัญของกลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะทั้งสิทธิสองส่วน ล้วนเชื่อมโยงเข้ากับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับการรับรองไว้อย่างแยกกันไม่ออก รวมถึงยังเป็นวัตถุประสงค์และปรัชญาขั้นพื้นฐาน ของความตกลงว่าด้วยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ดังที่กล่าวแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ภาพลักษณ์ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด โดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์เป็นหลักแต่ฝ่ายเดียว โดยมองข้ามสิทธิของผู้ใช้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีสิทธิในการเข้าถึงองค์ความรู้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพอื่นใด

ซึ่งงานต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่กำหนดว่า " เจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีสิทธิในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด "

Lawrence Lessig ปรมาจารย์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต้นกำเนิดแนวคิดวัฒนธรรมเสรี และขณะเดียวกัน ก็เชื่อในเรื่องทรัพย์สินของเอกชน กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Free Culture ว่า

" การละเมิดลิขสิทธิ์ (Piracy) ไม่ว่าบนสื่ออินเทอร์เน็ตหรือสื่ออื่นใด ถือเป็นสิ่งที่ผิดและกฎหมายควรจะลงโทษ แต่ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะ กำจัดการละเมิดให้หมดสิ้นไปจากโลก อาจเป็นการทำลายวัฒนธรรมเชิงคุณค่า ที่ได้รับการสั่งสมในขนบประเพณีของเรามาเป็นเวลานาน" (Lessig, 2004 : 10)

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว องค์กร " ครีเอทีฟคอมมอนส์ ( Creative Commons – CC ) " จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นำเสนอทางเลือกใหม่ ในการคุ้มครองสิทธิในงานสร้างสรรค์แก่เจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์ ที่ต้องการเผยแพร่ ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของตนให้เกิดการต่อยอด สู่สาธารณะ

จากเดิมภายใต้หลัก " สงวนสิทธิ์ทุกประการ (all rights reserved)" ไปสู่แนวคิดใหม่ในลักษณะ " สงวนสิทธิ์บางประการ (some rights reserved) " ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าของงานกำหนด

แนวคิดดังกล่าวได้รับการพัฒนา จนเกิดเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1. แสดงที่มา 2. ไม่ดัดแปลง 3. ไม่ใช้เพื่อการค้า 4. อนุญาตแบบเดียวกัน

ภายใต้หลักทั้งสี่ประการข้างต้น ผู้ใช้สามารถนำงานสร้างสรรค์ที่ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ ไปต่อยอดหรือเผยแพร่ได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้สร้างสรรค์ซ้ำอีก วิธีการใช้งานเงื่อนไขทั้งสี่ มีรายละเอียดอีกมาก แต่เข้าใจได้ไม่ยาก

สำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์ที่สนใจ สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของครีเอทีฟคอมมอนส์ ( http://creativecommons.org/ ) หรือเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย (http://cc.in.th )

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นอกจากจะช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเสรีในลักษณะที่ " เคารพสิทธิผู้สร้าง และสนองความต้องการของผู้เสพ " (สฤณี : 2552) สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ ยังช่วยให้ user อย่างเรา สามารถนำผลงานสร้างสรรค์ อันมีลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ไปใช้ได้ อย่างเสรีและถูกต้องภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

เปิดโอกาสในการเข้าถึงงานสร้างสรรค์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นสิทธิชอบธรรมที่เราพึงมีพึงได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับกุม

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ